บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
TPIPP เป็นบริษัทลูกของบริษัท TPI Polene ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นหลัก
ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าอยู่ 3 ประเภท
- โรงไฟฟ้าความร้อนทิ้ง
- โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF
- โรงไฟฟ้าถ่านหิน
สำหรับโรงไฟฟ้าความร้อนทิ้ง บริษัทจะใช้ความร้อนที่ออกมาจากกระบวนการผลิตปูนของบริษัท TPI Polene เพื่อนำมาสร้างไอน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า
ส่วนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ของบริษัทหลักคือการนำขยะ RDF มาเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง และใช้ความร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนของบริษัท TPIPL มาเป็นเชื้อเพลิงเสริม
RDF คืออะไร?
โดยปกติ ขยะมูลฝอยทั่วไปเอามาเผาไหม้เป็นพลังงานได้ไม่ดีนัก ค่าความร้อนและความชื้นที่ได้จะไม่แน่นอน เนื่องจากขยะมูลฝอยจะเปลี่ยนแปลงไปตามชุมชนและฤดูกาล
วิธีแก้ปัญหาคือนำขยะมูลฝอยมาผ่านกระบวนการต่างๆเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้เหมาะแก้การทำเป็นขยะเชื้อเพลิงมากขึ้น
RDF (Refuse Derived Fuel) คือ เชื้อเพลิงขยะจากการนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกแล้ว มาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่างๆ และปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี
เราสามารถใช้ RDF ร่วมกับถ่านหินเพื่อลดถ่านหินลง หรือนำพลังงานความร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนมาใช้ร่วมก็ได้
ข้อดีของเชื้อเพลิงประเภทนี้คือมีค่าความร้อนสูงและมีความชื้นต่ำกว่าชีวมวล แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน เช่น
- จำเป็นต้องคัดแยกขยะมูลฝอยก่อน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการคัดแยกขยะ
- ต้องจัดหาขยะเข้าระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โรงไฟฟ้าดำเนินการได้ ราคาขยะอาจเพิ่มขึ้นหากมี demand มากขึ้น
ดังนั้นก็หมายความว่าการใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงก็จำเป็นที่จำต้องแน่ใจว่าปริมาณขยะที่จะนำเข้าสู่ระบบจะไม่เกิดการขาดแคลน
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการรับขยะเข้าสู่ระบบประมาณ 6,000 ตันต่อวัน และสามารถนำมาผลิตเป็น RDF ได้ 3,000 ตันต่อวัน (ผลผลิต 50% จากปริมาณนำเข้าทั้งหมด)
บริษัทจัดหาขยะจากหลากหลายแห่ง ตั้งแต่ขยะจากหลุมฝังกลบที่ผ่านการคัดแยกแล้ว ขยะจากหลุมฝังกลบที่ยังไม่ผ่านการคัดแยก และขยะจากชุมชน
โดยปกติแล้วปริมาณขยะจะไม่ค่อยขาดแคลนนักเพราะ supply เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและมีความแน่นอนสูง นอกจากนี้แนวโน้มของขยะยังมีการเติบโตขึ้นทุกๆปีอีกด้วย
สรุปคือเราอาจจะยังไม่ต้องห่วง supply ขยะมากนัก เพราะประเทศไทยมีปริมาณขยะแต่ละปีมากถึง 27 ล้านตัน ในขณะยังมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 8 ล้านตัน และตัว TPIPP เองก็มีความสามารถในการรับขยะอยู่ที่ปีละ 2.2 ล้านตัน เท่านั้น
โรงไฟฟ้าของ TPIPP ที่ดำเนินอยู่ปัจจุบันมี 4 โรง 150 MW ทั้งหมดตั้งอยู่โรงงานปูน TPIPL (จังหวัดสระบุรี)
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 40 MW
- โรงไฟฟ้า RDF 20 MW
- โรงไฟฟ้า RDF 60 MW
- โรงไฟฟ้าความร้อนทิ้ง 30 MW
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าในอนาคต
- โรงไฟฟ้า RDF 70 MW นำมารวมกับโรงไฟฟ้าความร้อนทิ้ง 30 MW ปัจจุบันกำลังทดสอบระบบ คาด COD 1Q2561 - 2Q2561
- โรงไฟฟ้าถ่านหิน + RDF 70 MW คาด COD 1Q2561
- โรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 MW คาด COD 1Q2561
หมายความว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 150 MW เป็น 440 MW ในอนาคตอันใกล้ นับว่าเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดด
ลูกค้าหลักของ TPIPP ก็คือ บริษัท TPIPL และ กฟผ. ถือเป็นตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าบริษัทจะยังมีโอกาสพอสมควร แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน
- ความเสี่ยงในเรื่องของนโยบายภาครัฐ เช่นที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้น
- ความเสี่ยงจากการแข่งขัน จะส่งผลไปถึงเรื่องของราคาขายขยะ RDF
บริษัทเพิ่งเข้า IPO มาได้เพียงปีเดียว ดังนั้นจะมีงบย้อนหลังแค่ปีก่อนเท่านั้น ซึ่ง ปี 2560 บริษัทมีรายได้ 5,188 ลบ. กำไรสุทธิ 2,591 ลบ.
หากดูในส่วนของฐานะการเงิน เราจะพบว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างมาก
บริษัทมีทรัพย์สินรวมทั้งหมด 27,566 ลบ. โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้สินเพียง 3,352 ลบ. เท่านั้น ทำให้ D/E อยู่เพียง 0.13 เท่า การมีหนี้สินน้อยมากทำให้บริษัทสามารถขยายโครงการในอนาคตได้อีกมากมาย
หากเราคิดง่ายๆว่าทรัพย์สินราว 27,000 ลบ. แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าได้ 6 แห่ง ดังนั้นหากบริษัทสามารถกู้เพิ่มได้อีก 23,000 ลบ. ที่ D/E 1 เท่า จะทำให้บริษัทได้โรงไฟฟ้าเพิ่มอีกถึง 5 โรง
สรุปแล้วโรงไฟฟ้าขยะ RDF ถือเป็นเทคโนโลยีที่ดีมาก นานาประเทศต่างก็สนับสนุนโรงไฟฟ้าประเภทนี้พอสมควร
เมื่อโลกเข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น แนวโน้มขยะก็จะเพิ่มขึ้นตาม ซึ่ง RDF จะช่วยลดปริมาณขยะให้ลดลงโดยการนำขยะมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ จากเดิมที่นำไปฝังกลบ
TPIPP เป็นผู้เล่นใหญ่ที่สุดของโรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทย มีเทคโนโลยีที่นำหน้าและมีเครดิตที่ดีกว่าเจ้าอื่นๆในประเทศ
ปี 2560 บริษัทมีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 150 MW ในขณะสิ้นปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 440 MW ทำให้เป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดมาก
บทวิเคราะห์จากโบรกหลายๆสำนักให้กำไรสุทธิของปี 2561 อยู่ที่ ประมาณ 6000 ลบ. จากปี 2560 ที่ 2,500 ลบ.
การคาดการณ์ของโบรกในธุรกิจประเภทโรงไฟฟ้าน่าจะมีโอกาสผิดพลาดไม่สูงนัก เพราะข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่างๆนั้นเป็นข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไป
ความเสี่ยงจากการคาดการณ์ของโบรกคือการผิดคาดจากความล่าช้าของโครงการ ซึ่งจะทำให้เป้าราคาในปีนี้เปลี่ยนไป แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้วการล่าช้าของโครงการอาจจะเป็นโอกาสได้เหมือนกัน
สุดท้ายคือปีก่อน TPIPP ปันผลสูงมากที่ 90% ของกำไรสุทธิ หากในบริษัทคงนโยบายปันผลเช่นนี้ต่อไปก็ถือว่าน่าสนใจพอสมควร
ติดตามแบ่งปันความรู้การลงทุนได้ที่ Investdiary