ธุรกิจการบินเป็นหมวดธุรกิจที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง การแข่งขันสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ อีกทั้งยังรวมถึงรูปแบบการเดินทางอื่นๆ เช่น รถไฟ รถยนต์ รถโดยสาร เป็นต้น
การวิเคราะห์ธุรกิจการบินจะต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมากเพราะนอกจากปัจจัยการแข่งขันแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อกำไรขาดทุนของธุรกิจ เช่น เชื้อเพลิงน้ำมัน
ธุรกิจการบินสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก
- การบินระหว่างประเทศ - เครื่องบินที่ใช้มีจำนวนที่นั่งมากกว่า 150 ที่นั่งขึ้นไป
- การบินภายในประเทศ - เครื่องบินที่ใช้มีจำนวนที่นั่ง 100 - 150 ที่นั่ง
- การบินระยะใกล้ - ในอเมริกาจะมีสายการบินประเภทนี้อยู่บ้าง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่
- การบินเพื่อขนส่งสินค้า
ผู้โดยสารหลักสำหรับธุรกิจการบินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- ผู้โดยสารที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะเดินทางเป็นจำนวนหลายครั้งต่อปี และมักจะซื้อที่นั่งชั้นธุรกิจ
- ผู้โดยสารท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเดินทางปีละครั้งและจะเลือกสายการบินที่ราคาถูกก่อนเสมอ ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจยังมีผลต่อการเดินทางอีกด้วย
ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจจำนวนมาก
- ความจุของสนามบินเป็นข้อจำกัดในการขยายขนาดกองบินของบริษัท
- เส้นทางการบินจะต้องออกแบบได้อย่างมากประสิทธิภาพ จำนวนผู้โดยสารต้องคุ้มค่าต่อการบิน
- การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องส่งผลให้บริษัทต่างๆต้องพัฒนาตามเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
- ต้นทุนการเงินในการซื้อหรือเช่าเครื่องบิน
- สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และส่งผลโดยตรงต่อการบินในแต่ละเที่ยว
- ต้นทุนน้ำมันเป็นต้นทุนอันดับต้นของสายการบิน โดยเฉพาะประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันจะมีต้นทุนที่สูงกว่าประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำมัน
- ต้นทุนบุคลากรเป็นต้นทุนอันดับต้นเช่นกัน สายการบินแบบต้นทุนต่ำมักจะมีบุคลากรที่น้อยกว่าแต่การให้บริการก็จะมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าเช่นกัน
ตัวเลขที่สำคัญในการวิเคราะห์ธุรกิจการบิน
Available Seat Kilometres/Miles = จำนวนที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร x ระยะทางที่บิน
ตัวเลขนี้บ่งบอกถึงความจุของผู้โดยสารในสายการบิน ยิ่งมีค่าสูงหมายความว่าสายการบินมีความจุมาก และหากนำมาดูแนวโน้มของตัวเลขนี้ก็จะพบว่า หากเพิ่มขึ้นหมายถึงการลงทุนเพิ่มกองบินของบริษัท และหากลดลงหมายถึงกองบินมีขนาดเล็กลง
ซึ่งเราควรคาดหวังแนวโน้มตัวเลขที่มากขึ้นในแต่ละ เพราะเป็นจุดชี้วัดว่าบริษัทยังลงทุนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
Revenue Passenger Kilometres/Miles = จำนวนผู้โดยสาร x ระยะทางที่บิน
ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นอัตราการใช้งานจำนวนที่นั่งทั้งหมดของสายการบินนั้นๆ ยิ่งมีค่าเยอะแปลว่ามีคนใช้บริการเยอะ แต่ก็จะต้องเทียบกับค่า Available Seat Kilometres/Miles ด้วย เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าสายการบินนั้นมีอัตราการใช้งานเป็นเท่าไหร่
Revenue Per Available Seat Kilometres/Miles
คือรายได้เฉลี่ยต่อที่นั่งสำหรับผู้โดยสารของสายการบิน ยิ่งมีค่าสูงแปลว่าดี หมายถึงบริษัทสามารถบริหารราคาจำหน่ายตั๋วได้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้จะต้องตรวจสอบตัวเลขของอุตสาหกรรมเพื่อเปรียบเทียบว่าบริษัทที่ได้ดีกว่าหรือแย่กว่าผู้เล่นอื่นมากน้อยแค่ไหน และแนวโน้มตัวเลขเป็นอย่างไรในระยะยาว
สิ่งที่เราควรคาดหวังคือตัวเลขที่สามารถมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะหมายถึงรายได้และกำไรของบริษัทจะมากขึ้นตามลำดับ และกลับกันหากตัวเลขมีแนวโน้มที่แย่ลงก็จะทำให้รายได้และกำไรของบริษัทน้อยลง
ตัวเลขนี้ยังบ่งบอกถึงความดุเดือดในการแข่งขันในอุตสาหกรรมได้อีกด้วย หากตัวเลขของทั้งอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลง นั่นแปลว่าอุตสาหกรรมแข่งราคากันอย่างรุนแรงจนทุกสายการบินต้องลดราคาตั๋วเครื่องบิน
Load Factor
คืออัตราส่วนระหว่าง Revenue Passenger Kilometres/Miles ต่อ Available Seat Kilometres/Miles หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงหมายความว่าทรัพยากรที่นั่งถูกใช้อย่างคุ้มค่า
เราควรจะเทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมว่าสายการบินใดมี Load Factor ที่ดีกว่ากัน เราอาจจะสังเกตว่าสายการบินต้นทุนต่ำมีแนวโน้ม Load Factor ที่สูงกว่าสายการบินแบบเต็มรูปแบบ
Load Factor เป็นอัตราส่วนที่สำคัญที่สุดในธุรกิจการบิน เพราะเนื่องจากธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสินทรัพย์ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องใช้ทรัพยกรให้คุ้มค่าถึงระดับหนึ่งเพื่อทำให้การบินในแต่ละเที่ยวบินคุ้มต้นทุน
ที่จริงแล้วธุรกิจการบินนั้นมีหน่วยธุรกิจอื่นๆที่สร้างรายได้อีกด้วย เช่นการขนส่งหรือการขายสินค้าบนเครื่องบิน แต่รายได้หลักก็ยังมาจากธุรกิจการบิน ดังนั้นสิ่งเราควรจะต้องวิเคราะห์คือธุรกิจหลัก เพื่อให้เห็นภาพแนวโน้มที่ชัดเจน
เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องคอยระวังต้นทุนของธุรกิจอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะต้นทุนน้ำมันและต้นทุนเงินกู้
ช่วงเวลาขาขึ้นของน้ำมัน ต้นทุนของสายการบินก็ควรจะสูงขึ้นแต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการเฮดจ์น้ำมันของแต่ละสายการบิน ในขณะที่การขึ้นอัตราค่าโดยสารอาจจะเป็นไปในอัตราที่ช้าเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งกันด้วยราคา
ในทางกลับกัน ช่วงขาลงของต้นทุนน้ำมัน ต้นทุนของสายการบินก็ควรจะลดลงด้วย และสายการบินก็จะต้องลดค่าโดยสารลงอย่างรวดเร็วเพราะการแข่งขันเช่นกัน
การวิเคราะห์ 5 Forces
Threat of New Entrants หรือภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่
แต่เดิมธุรกิจการบินมีความยากในการเข้ามาแข่งขันของรายใหม่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนหนักในการซื้อเครื่องบิน ส่วนในปัจจุบันสายการบินสามารถเช่าเครื่องบินได้ทำให้การเข้ามาแข่งของรายใหม่ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน (แต่ก็ยังยากเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น)
ถึงแม้ว่าการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จะมีความเป็นไปได้ แต่สำหรับในประเทศไทย มีสายการบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันหลากหลายเจ้า และสภาพผลประกอบการของแต่ละบริษัทต่างก็ขาดทุนกันอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่น้ำมันราคาแพง ทำให้ความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนควรจะอยู่ในระดับที่ต่ำ
นอกจากนี้ความยากในการบริหารต้นทุนไม่ว่าจะเป็นบุคลากรและน้ำมัน ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีความยากในการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่อีกด้วย
Power of Suppliers หรืออำนาจต่อรองของผู้จัดหา Supply
Supply หลักของธุรกิจคือเครื่องบิน น้ำมัน และสนามบิน
บริษัทที่เป็น supply เครื่องบินมีอยู่ 2 บริษัทหลักในโลก คือ Boeing และ Airbus ซึ่งทั้ง Boeing และ Airbus เป็นฝ่ายที่มีอำนาจการต่อรองที่สูงเนื่องจากมีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนการต่อราคาเครื่องบินมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินงานสายการบิน ซึ่งสายการบินไม่สามารถต่อรองค่าบริการรวมถึงค่าน้ำมันได้ สายการบินจำเป็นจะต้องซื้อก่อนบินเสมอไม่ว่าจะมีราคาเท่าไหร่ก็ตาม
สนามบินมีอำนาจเหนือกว่าสายการบินค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้สายการบินต่างๆต้องการเดินทางเข้ามาเพื่อสร้างรายได้ ค่าใช้บริการสนามบินเป็นสิ่งที่สายการบินไม่สามารถต่อรองได้
Power of Buyers หรืออำนาจต่อรองของลูกค้า
ในประเทศไทยมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสายการบินกว่า 10 บริษัท การแข่งขันของสายการบินส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก ในขณะที่ผู้ซื้อสามารถเลือกสายการบินที่ถูกที่สุดได้ในช่วงเวลาที่ต้องการ
ผู้ซื้อมีอำนาจเหนือกว่าสายการบินค่อนข้างมาก เพราะมีจำนวนเที่ยวบินมากมายที่สามารถให้บริการได้ในช่วงเวลาที่ต้องการ ผู้ซื้อที่มาจากทัวร์หรือเดินทางเพื่อท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเลือกสายการบินที่ราคาก่อนเสมอในขณะที่บริการมาที่หลัง ส่วนกรณีผู้ซื้อเดินทางเพื่อทำธุรกิจอาจจะไม่ได้เลือกที่ราคามากนักและเน้นบริการเป็นหลัก
สายการบินสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือแบบประหยัด และแบบเต็มรูปแบบ สำหรับแบบประหยัด เช่น AirAsia, NokAir ในสายตาของผู้ซื้อจะไม่แตกต่างกันมากและเน้นที่ราคาเป็นหลัก แต่สำหรับแบบเต็มรูปแบบเช่น Bangkok Airways, Thai Airways ผู้ซื้อจะเชื่อถือแบรนด์และการให้บริการเหนือราคา
ถึงแม้ว่าสายการบินแบบเต็มรูปแบบจะได้ราคาตั๋วที่ดีกว่า แต่ก็มีการแข่งขันกับสายการบินอื่นในต่างประเทศด้วย ดังนั้นราคาก็ไม่สามารถหนีผู้เล่นอื่นในระดับเดียวกันได้มากนัก เพราะผู้ซื้อก็มีโอกาสใช้บริการของเจ้าอื่นได้เช่นกัน
Availability of Substitutes หรือภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน
พาหนะที่สามารถทดแทนเครื่องบินได้คือรถยนต์ รถประจำทาง และรถไฟ ขึ้นอยู่กับระยะทางจากต้นทางถึงจุดหมาย
สำหรับสายการบินที่เดินทางระหว่างประเทศเป็นหลักจะมีภัยคุกคามที่น้อยกว่าเพราะไม่มีพาหนะอื่นสามารถทดแทนได้ในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของราคาและความสะดวกสบาย
ส่วนสายการบินที่เดินทางภายในประเทศเป็นหลักจะมีความเสี่ยงมากกว่า และผู้บริโภคจะไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางเป็นอย่างอื่นหากมีความสะดวกสบายมากกว่าและราคาถูกกว่า
ในอนาคตประเทศไทยจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเกิดขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญสำหรับสายการบิน
Competitive Rivalry หรือการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม
การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมถือว่าสูงมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก อาจจะเป็นเพราะธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่ลงทุนแล้วถอนตัวยากหากบริษัทไม่ประสบกับการล้มละลาย
ดังนั้นเมื่อไม่สามารถถอนตัวได้ บริษัทจึงต้องแข่งขันต่อไปในอุตสาหกรรมเรื่อยๆ ส่วนราคาและบริการก็ไม่ถือว่าต่างกันมากนักเพราะเป็นส่ิงที่สามารถลอกเลียนแบบได้ ทำให้ไม่มีผู้เล่นใดมีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่ากันนัก
ปัจจุบันสายการบินที่เติบโตสูงที่สุดคือ Air Asia เพราะกลยุทธ์ที่เช่าเครื่องบินแทนการซื้อทำให้ต้นทุนการเงินต่ำกว่า ส่วนการบริหารภายในองค์กรณ์ก็สามารถทำได้ต้นทุนต่ำกว่าทำให้ท้ายที่สุดแล้วสามารถออกโปรโมชั่นได้ดีกว่าสายการบินอื่น
โดยสรุปแล้วอุตสาหกรรมการบินไม่ค่อยเป็นมิตรต่อการลงทุน จากการวิเคราะห์ในแต่ละข้อจะพบว่าบริษัทการบินแทบไม่สามารถควบคุมชะตากรรมของตัวเองได้เท่าไหร่นัก
การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมมีอยู่สูง อำนาจต่อรองของธุรกิจต่อทั้งผู้โดยสารและ Supply ต่ำ กำไรผันผวนตามราคาน้ำมัน ต้นทุนลงทุนในการทำธุรกิจค่อนข้างสูง และที่สำคัญคือไม่สามารถถอนตัวออกจากธุรกิจได้ง่ายนัก
.
Series ชุดวิเคราะห์อุตสาหกรรม
- วิเคราะห์ธุรกิจโรงไฟฟ้าฉบับเบื้องต้น
- วิเคราะห์ธุรกิจการบินฉบับเบื้องต้น
- วิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารฉบับเบื้องต้น
- วิเคราะห์ธุรกิจโรงพยาบาลฉบับเบื้องต้น
- วิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกฉบับเบื้องต้น
ติดตามแบ่งปันความรู้การลงทุนได้ที่ Investdiary