กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน แต่มีกลยุทธ์หนึ่งที่ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมืออาชีพต่างก็ใช้ นั้นคือการลงทุนแบบ ถัวเฉลี่ย DCA (Dollar Cost Average)
การ DCA คืออะไร?
ในมุมมองของผม การลงทุนแบบ DCA คือการซื้อหุ้นเป็นประจำทุกๆระยะเวลาหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่สนใจว่าราคาหุ้นจะเป็นเท่าใด แต่ลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม และลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาวไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี
การลงทุนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เรามีวินัยในการลงทุน และหวังผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งแน่นอนว่าในระยะยาวหุ้นควรจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น
การไม่สนใจราคาหุ้นแต่ลงทุนด้วยเงินเท่าเดิมทำให้นักลงทุนจะสามารถซื้อหุ้นได้จำนวนมากหากราคาหุ้นต่ำ และซื้อหุ้นได้จำนวนน้อยลงหากราคาหุ้นสูงขึ้น
นั่นหมายความว่าต้นทุนของหุ้นจะถูกถ่วงน้ำหนักด้วยราคาที่ถูกมากกว่าราคาที่แพง
ความเสี่ยงของกลยุทธ์นี้คือนักลงทุนจะขาดทุนอย่างหนักหากวิเคราะห์บริษัทผิดพลาดและไม่มีแผนการตัดขาดทุน ดังนั้นเราลองมาดูกันว่าก่อนการ DCA นั้นเราควรจะต้องรู้อะไรบ้าง
5 คำถามก่อนลงทุน DCA ถ้าไม่อยากขาดทุน
1. อนาคตของบริษัทดีอย่างไร?
การซื้อหุ้นทุกครั้งนักลงทุนจะต้องหวังผลตอบแทนของการลงทุน และผลตอบแทนที่ดีก็มาจากบริษัทที่เติบโตเท่านั้น
"ไม่มีบริษัทใดให้ผลตอบแทนที่ดีได้ถ้าไม่มีอนาคต"
สิ่งที่นักลงทุนจะต้องหาคำตอบได้คือในระยะยาว 3-5 ปี นั้น บริษัทจะมีอนาคตที่ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งนักลงทุนอาจไม่จำเป็นต้องลงลึกขนาดรายไตรมาส
อุตสาหกรรมที่บริษัทอยู่นั้นเอื้อต่อการเติบโตหรือไม่? หากเราไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์ชั้นเยี่ยม ก็ไม่ควรเสี่ยงลงทุนในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมตะวันตกดิน
เราลองดูหุ้น BEC (ช่อง 3) เป็นตัวอย่างว่าการลงทุนของเราจะเสียหายอย่างหนักหากเรา DCA บริษัทในอุตสาหกรรมตะวันตกดิน แม้ว่า BEC เองนั้นจะเป็นบริษัทที่ดีในสายตาของเราก็ตาม
แนะนำบทความการค้นหาบริษัทเติบโต - 12 เทคนิคหาหุ้นเด้ง ตามฉบับ Buffett แห่งอินเดีย
2. ธรรมชาติของธุรกิจเป็นอย่างไร?
หากเราแบ่งประเภทของบริษัทตามหลักของ Peter Lynch เราจะพบว่ามีบริษัทอยู่ 3 ประเภทหลักที่เราควร DCA
- บริษัทใหญ่มั่นคงจ่ายปันผล
- บริษัทใหญ่แข็งแกร่งและเติบโต
- บริษัทเล็กเติบโตสูง
นักลงทุน DCA ควรเน้นลงทุนในบริษัท 3 ประเภท นี้เท่านั้นเนื่องจากความเสี่ยงจะต่ำกว่าและการเติบโตจะช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกได้พอสมควร
แต่ถ้าให้เลือกเพียงอย่างเดียว เราควรเลือกบริษัทใหญ่แข็งแกร่งและเติบโต
ส่วนประเภทของบริษัทที่เราไม่ควร DCA คือ
- บริษัทวัฏจักร
- บริษัทพลิกฟื้นจากขาดทุน
- บริษัทที่มีทรัพย์สินเยอะ
เหตุผลเพราะบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่อเงินลงทุน นักลงทุนต้องอาศัยความสามารถในการติดตามบริษัทและหาข้อมูลเชิงลึกอย่างมาก
ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถลงทุนบริษัทเหล่านี้ได้เลย บริษัทเหล่านี้อาจให้ผลตอบแทนสูงถ้าหากเราคาดการณ์ถูก แต่กลยุทธ์ลงทุน DCA นั้นไม่เหมาะอย่างสิ้นเชิง
3. จุดตัดขาดทุนคืออะไร?
ความเสี่ยงมักเกิดขึ้นได้เสมอในโลกของการลงทุน นักลงทุนไม่สามารถหลีกหนีความเสี่ยงได้ ดังนั้นหน้าที่หลักของเราคือการจำกัดความเสี่ยง
ถึงแม้ว่าเราจะวิเคราะห์มาอย่างดีก่อนลงทุนแล้วก็ตาม แต่ระหว่างทางก็อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดไว้เสมอไป
หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในทางที่แย่ลงระหว่างการ DCA ของเรา เราควรทำอย่างไร?
นักลงทุนจะต้องรู้จุดตัดขาดทุนก่อนการลงทุน DCA ทุกครั้ง เพราะอย่างที่เราเห็นเคส BEC แล้วว่าหากเราฝืนลงทุนต่อจะทำให้เราเจ็บหนักอย่างมาก
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ Cut Loss - Cut loss สำหรับการลงทุนระยะยาว
4. หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทจะรอดหรือเปล่า?
ไม่มีใครอยากให้เกิดวิกฤต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันเป็นส่ิงที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้
ความเสี่ยงของบริษัทเองนั้นเอาอาจสามารถล่วงรู้และตัดขาดทุนออกก่อนได้ แต่สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจนั้นเราล่วงรู้ได้ยากกว่านั้นมาก
ดังนั้นคำถามสำคัญคงไม่ใช่การหลีกเลี่ยงวิกฤต แต่บริษัทนั้นจะอยู่รอดในสภาวะวิกฤตได้หรือไม่?
บริษัทที่จะอยู่รอดในวิกฤตได้นั้นจะต้องมีความมั่นคงทางการเงิน ปัจจัยที่ดูได้ง่ายคือมีหนี้ไม่เกินตัวและมีเงินชำระหนี้ได้
ส่วนอีกปัจจัยคือบริษัทจะต้องขายสินค้าหรือบริการที่มีความต้องการไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวิกฤตก็ตาม ตัวอย่างเช่น อาหารและยา
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้มีความแข็งแกร่งมากนัก ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนเข้าใจการตัดขาดทุนมากน้อยเท่าใด และตัวนักลงทุนเองที่จะเป็นผู้กำหนดความเสี่ยง
5. ยอมรับการขาดทุนได้เท่าไหร่?
คำถามข้อสุดท้ายนักลงทุนจะต้องถามจิตใจและฐานะทางการเงินของตนเองให้ได้ว่านักลงทุนสามารถยอมรับการขาดทุนได้เท่าไหร่
อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่าเราหลีกเลี่ยงการขาดทุนไม่ได้ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนักลงทุนจะต้องขาดทุนอย่างแน่นอน
แต่จำนวนเม็ดเงินที่ขาดทุนนั้นจะต้องไม่มากเกินไปกว่าความเสี่ยงที่นักลงทุนจะสามารถรับได้ เช่น ขาดทุน 10% หรือ 15%
การคำนึงถึงส่วนนี้จะทำให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงจนเกินตัวในการลงทุนแบบ DCA
นี่ไม่ใช่การการันตีว่านักลงทุนจะไม่ขาดทุนเกินกว่าที่กำหนด เพราะปัจจัยนี้เราควบคุมได้ยากโดยเฉพาะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลดความเสี่ยงที่เกินความจำเป็นไปแล้วก่อนการลงทุน
.
สรุป
DCA เปรียบเสมือนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง แต่เราจะได้ประโยชน์จากมันก็ต่อเมื่อเราทำความเข้าใจก่อนการใช้งานจริง ในทางตรงกันข้ามมันก็จะทำลายเราหากเราใช้ไม่เป็น
ติดตามแบ่งปันความรู้การลงทุนได้ที่ Investdiary