นักลงทุนอาจเคยสงสัยว่าทำไมหุ้นบางตัวถึงมีราคาถูกมาก แต่ก็ไม่มีใครซื้อ หรือบางตัวก็แพงมากแต่ก็มีคนแย่งกันซื้อ
เมื่อวันก่อนผมได้อ่านบทความของ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เกี่ยวกับธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีความน่าสนใจ ผมจึงลองนำมาเทียบกับหุ้นประเภทอื่นๆดูบ้าง
ผมแยกประเภทของหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ซึ่งนี่ไม่ใช่การแยกประเภทตามหลักการของ Peter Lynch แต่เป็นการแยกระดับของคุณภาพและการให้ Premium แก่หุ้นแต่ละตัว
ผมคิดว่าสำคัญมากถ้าหากนักลงทุนรู้ว่าหุ้นที่เราลงทุนหรือกำลังศึกษาอยู่นั้นตกอยู่ในประเภทใด เพราะจะทำให้เราวางแผนได้ดีขึ้นว่าเราควรมีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร
"หุ้นแต่ละตัวนั้นไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดียวกันได้หมด"
หุ้น 6 ประเภท และการให้ Premium
บริษัทคุณภาพต่ำ ธุรกิจตะวันตกดินอย่างชัดเจน แบบนี้ราคาหุ้นถูกแค่ไหนก็ไม่คุ้มที่จะลงทุน
บริษัทคุณภาพต่ำ แต่ธุรกิจยังทรงๆไปได้อีกสักระยะ ถ้าราคาหุ้นถูกมากก็ยังพอลงทุนได้ แต่ก็ต้องขายหากมีการลงทุนอื่นที่ดีกว่า หรือราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาพอสมควร
บริษัทคุณภาพกลางๆ มีลักษณะขายสินค้าโภคภัณฑ์ เน้นซื้อให้ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ต้องขายเมื่อทุกอย่างดูดีอย่างเหลือเชื่อ
บริษัทคุณภาพกลางๆ โตตามเศรษฐกิจ ไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น ถ้าราคาหุ้นถูกก็ลงทุนได้ และถือได้จนกว่าแนวโน้มจะเริ่มเปลี่ยนไปหรือราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูง
บริษัทคุณภาพใช้ได้และอยู่ในช่วงที่สามารถโตได้มากกว่าเศรษฐกิจ มีความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังไม่ทนทานต่อปัจจัยภายนอกมากนัก ราคาหุ้นแพงอาจยังพอลงทุนได้ ถ้าแนวโน้มยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะบริษัทไม่สามารถเติบโตสูงไปได้ตลอด
บริษัทคุณภาพเยี่ยม ทนทานต่อปัจจัยภายนอกและวิกฤต โตได้มากกว่าเศรษฐกิจ มีความสามารถในการแข่งขัน บริษัทประเภทนี้จะไม่ค่อยมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะถูก หากพบโอกาสจงรีบคว้า และถือให้ได้นานที่สุด
.
เราเห็นภาพกว้างๆไปแล้วว่าประเภทของหุ้นนั้นมีอะไรบ้าง ความรู้นี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อเราลองมาดูตัวอย่างจริงและฝึกด้วยตนเอง
ดังนั้นผมจะลองยกตัวอย่างหุ้นสัก 8 ตัวมาลองวิเคราะห์กันดูครับ
1. CPALL
หุ้นยอดนิยมอันดับต้นๆของนักลงทุน CPALL นั้นเป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับต้นๆของประเภท ทำธุรกิจหลักคือร้านค้า 7-11
บริษัทนี้ผมให้อยู่ในประเภทที่ 6 เนื่องจากบริษัทนี้ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก และยังสามารถเติบโตได้มากกว่าเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
ดังนั้นการลงทุนก็จะต้องเน้นฉวยโอกาสเมื่อมีปัจจัยชั่วคราวกระทบ เพราะโดยทั่วไปแล้วราคาหุ้นมักจะแพงอยู่ตลอดเวลา และถือให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2. KBANK
ธนาคารกสิกรไทยเป็นหุ้นใหญ่อันดับต้นๆของตลาดหลักทรัพย์ไทย แต่ความใหญ่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นบริษัทที่อยู่ในประเภทเดียวกับ CPALL
KBANK นั้นอาจจะตกอยู่ในประเภทที่ 4 เพราะคู่แข่งอื่นๆในธุรกิจเดียวกันมีด้วยกันหลายบริษัท โดยที่ไม่ได้มีผู้ชนะอย่างชัดเจน เช่น BBL, SCB
ดังนั้นเราสามารถลงทุนได้ก็ต่อเมื่อราคาหุ้นนั้นถูกพอและมีปันผลอยู่ในระดับที่ดี และเราก็สามารถขายได้หากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาพอสมควร หรือจะถือต่อก็ไม่ว่ากัน
3. SCC
บริษัทวัศดุก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของประเทศ เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนตั้งแต่เข้าตลาดมากกว่า 100 เท่าตัว
ถึงแม้บริษัทจะมีความมั่นคงสูง แต่ปัจจุบันบริษัทไม่สามารถเติบโตได้มากกว่าเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก รวมถึงปัจจัยภายนอกยังเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อต้นทุนและผลประกอบการพอสมควร
ดังนั้นเราไม่อาจจะให้บริษัทเข้ามาอยู่ประเภทที่ 6 ได้ แต่เป็นประเภทที่ 3 หรือ 4 แทน
4. IVL
บริษัทผู้ผลิตขวด PET รายใหญ่ของโลก ถึงแม้จะมีความมั่นคงสูง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงวัฎจักรของโภคภัณฑ์เม็ดพลาสติกได้
ดังนั้นความเป็นโภคภัณฑ์จึงทำให้บริษัทตกอยู่ในประเภทที่ 2
วิธีการลงทุนเบื้องต้นคือซื้อหุ้นในราคาที่ถูกที่สุดเมื่อปัจจัยทุกอย่างดูเลวร้ายอย่างเหลือเชื่อและขายเมื่อทุกอย่างดีดู
5. BEAUTY
บริษัทขายเครื่องสำอางค์รายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่บริษัทสามารถเติบโตได้สูงมากจนให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนถึง 10 เด้งภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี
ในช่วงนั้นเอง นักลงทุนอาจจัดประเภทของหุ้นอยู่ในประเภทที่ 5 หรือ 6 ก็ได้เพราะภาพอาจจะยังไม่ชัดพอ เนื่องจากตัวบริษัทเองยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านวิกฤตมาก่อน
แต่แล้วเมื่อปัจจัยหลายอย่างเข้ามากระทบกับบริษัท ทำให้ผลประกอบการแย่ลงอย่างน่าใจหาย นั่นเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าบริษัทไม่ได้มีความแข็งแกร่งมากพอ
ดังนั้นจึงจัดให้ Beauty อยู่ในหุ้นประเภทที่ 5 ถึงจะเหมาะสม
แต่ประเภทหุ้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้ ดังนั้นหาก Beauty ไม่สามารถพลิกกลับมาเติบโตได้ เราอาจจะต้องย้ายประเภทไปเป็นอย่างอื่น
6. SPALI
SPALI เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมแนวหน้าของประเทศ
ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอสังหาฯก็เคยเป็นอุตสาหกรรมที่คึกคักมาก่อน ทำให้มีอยู่ช่วงหนึ่ง SPALI ก็สามารถจัดให้อยู่ในหุ้นประเภทที่ 5 ได้เช่นกัน
อุตสาหกรรมนี้มีวัฏจักรที่รุนแรง แต่อาจต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์อยู่บ้างขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละบริษัท ซึ่งบางครั้งความแข็งแกร่งของบริษัทก็มีมากพอที่จะไม่กระทบต่อปัจจัยภายนอก
เราอาจจัดหุ้นนี้ให้อยู่ในประเภทที่ 3 หรือ 4 จึงจะเหมาะสมกว่า ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ แต่สิ่งที่ไม่ต่างกันคือเราไม่ควรลงทุนหากหุ้นมีราคาแพง เพราะการเติบโตนั้นจะไม่อยู่ยั่งยืน
7. BH
เมื่อไม่นานมานี้ราคาหุ้นของโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ได้ปรับตัวลดลงจนทำ New Low ในรอบหลายปี
สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของผู้ป่วยชาวต่างชาติ ซึ่งโรงพยาบาลเองมีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติมากถึง 65% ของรายได้รวม
ความเสี่ยงคือเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของคนในประเทศมากนัก และในอีกแง่ก็คือเป็นโรงพยาบาลที่มีรายได้หลักมาจากโรงพยาบาลเดียวเท่านั้น
เราสามารถจัดให้โรงพยาบาลนี้อยู่ในหุ้นประเภทที่ 5 หรือ 6 ก็ได้ เพราะแนวโน้ม Mega Trend จึงทำให้โรงพยาบาลนี้ยังมีโอกาสอีกมากในอนาคตหากสามารดำเนินนกลยุทธ์ได้ถูกต้อง
8. BGRIM
BGRIM เป็นหุ้นโรงไฟฟ้ายอดนิยมตัวหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะผลิตให้ลูกค้าอุตสาหกรรม
โดยทั่วไปโรงไฟฟ้าจะเป็นบริษัทที่อยู่ในประเภทที่ 4 เพราะไม่ได้โตอะไรมากมายนัก
ปัจจุบันภาพของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าเปลี่ยนไปมาก เพราะทุกบริษัทต่างหันมาเดินกลยุทธ์สร้างการเติบโตด้วยกันแทบทั้งสิ้น
แต่ถึงบริษัทจะลงทุนเยอะและพยายามเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราก็อาจจัดหุ้นประเภทนี้อยู่ในประเภทที่ 4 อยู่ดี
เพราะการลงทุนใหม่ๆของโรงไฟฟ้าเป็นการเติบโตที่มีขอบเขตจำกัด
เปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น CPALL มี 7-11 อยู่ทั่วประเทศไทยกว่า 10,000 สาขา หาก CPALL อยากเติบโตก็แค่เพิ่มบริการใหม่ๆผ่าน 7-11 สาขาเดิมโดยไม่ต้องลงทุนสาขาเพิ่มเลย เพียงเท่านี้ก็ได้การเติบโตแล้ว
กลับกัน โรงไฟฟ้าจะต้องลงทุนเงินก้อนใหญ่เสมอเพื่อแลกกับการเติบโต ไม่สามารถขึ้นค่าไฟฟ้าหรือต่อยอดอะไรได้มากนัก ยกเว้นการลดต้นทุน
ดังนั้นประเภทที่ 4 จึงเหมาะสมกับหุ้นโรงไฟฟ้าแล้ว ราคาที่เข้าซื้อก็จะต้องไม่แพงเกินไปกว่ากำลังการผลิตในมือของบริษัทที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้
.
ความจริงแล้วการวิเคราะห์ต้องอาศัยจินตนาการและประสบการณ์พอสมควร ไม่มีคำตอบที่ตายตัวชัดเจนเพราะปัจจัยต่างๆล้วนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ไม่ใช่ว่าวันนี้เราจัดประเภทของหุ้นแล้วและมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป อย่าลืมว่าลมยังเปลี่ยนทิศได้ บริษัทที่มีผู้นำก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือการพยายามทำความเข้าใจบริษัทและจัดหมวดหมู่เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนทุกครั้ง
ติดตามแบ่งปันความรู้การลงทุนได้ที่ Investdiary