ต้องยอมรับครับว่า E-Commerce ถือเป็นหนึ่งใน Mega Trend หลักของโลกในยุคปัจจุบัน และอัตราการเติบโตก็ไม่ธรรมดาเสียด้วย
อุตสาหกรรมนี้ใหญ่ขนาดไหน?
คำตอบนั้นบอกเป็นตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้เพราะมันเติบโตขึ้นทุกๆวัน! หากเราดูบริษัทเจ้าพ่อ e-commerce อย่าง Amazon.com ก็เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกอันดับ 2 รองจาก Apple Inc. เท่านั้น! ชี้ให้เห็นว่า e-commerce นั้นใหญ่มากจริงๆ
การที่ e-commerce เติบโตนั้นย่อมตามมาด้วยการจัดส่งพัสดุไปตามสถานที่ต่างๆ ธุรกิจที่ให้บริการจัดส่งพัสดุนั้นจึงเติบโตขึ้นอย่างมากเช่นกัน
การแข่งขันของผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุยุคใหม่ นอกจากเรื่องของความเร็วในการจัดส่ง (speed driven) แล้ว ความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (technology driven) ก็เป็นเรื่องที่คนที่อยากเป็นผู้นำต้องให้ความสำคัญ
บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ถือเป็นบริษัทเอกแรกๆ ในประเทศไทยที่ตอบโจทย์ในเรื่องการจัดส่งพัสดุแบบด่วน และการเป็นเจ้าแรกที่สร้างนวัตกรรมทางด้านงานบริการได้อย่างแตกต่าง จนเรียกว่าเป็น Game Changer ของอุตสาหกรรม
หลังจากที่ KEX ได้ดำเนินธุรกิจมาราว 14 ปี ก็ถึงเวลาแล้วที่จะก้าวไปสู่อีกขั้น ด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
1. รายละเอียดธุรกิจของ Kerry Express
Kerry Express (ชื่อย่อหุ้น KEX) ให้บริการจัดส่งพัสดุแบบใช้ศูนย์กระจายสินค้า (Hub and Spoke Model) หมายความว่า KEX จะนำพัสดุมารวมกันที่จุดคัดแยกแล้วค่อยกระจายพัสดุออกไป ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงในยุค E-Commerce โดยกลุ่มลูกค้าของ KEX นั้นมีทั้ง C2C, B2C, และ B2B
ข้อมูลล่าสุดพบว่าปัจจุบันมีจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
มีศูนย์คัดแยกพัสดุขนาดใหญ่ 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200 แห่ง และมีรถจัดส่งพัสดุกว่า 25,000 คัน
และจำนวนยอดส่งพัสดุเฉลี่ยนั้นสูงถึง 1.2 ล้านชิ้นต่อวันทำการ (งวด 9 เดือน 2563)
จากข้อมูล ปี 2562 ของ Frost & Sullivan จำนวนยอดส่งพัสดุเฉลี่ยเท่ากับ 1.1 ล้านชิ้นต่อวันทำการ สูงกว่าอันดับ 2 ถึง 3.9 เท่า (นับเฉพาะผู้จัดส่งพัสดุภาคเอกชน ไม่รวมไปรษณีย์ไทย)
ส่วนในปี 2563 - 2654 ข้อมูลนี้น่าเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรเนื่องจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงมาก
2. ระดมทุนเอาเงินไปทำอะไร?
สาเหตุหลักในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการลงทุนในธุรกิจหลัก
- ขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุด่วน ซึ่งได้แก่ การเพิ่มจำนวนศูนย์คัดแยกพัสดุ จุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุ
- ลงทุนในระบบการขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ต่าง ๆ ระบบอัตโนมัติ ยานพาหนะ
- การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
จาก 3 ข้อข้างต้นแสดงให้เห็นว่า KEX เองยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของบริษัท ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักลงทุน
อีกส่วนของเงินระดมทุนก็เพื่อชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของ KEX ลง และแน่นอนว่าจะเป็นผลดีต่อกำไรของบริษัท รวมถึงการนำไปใช้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ
3. โครงสร้างการถือหุ้นหลัง IPO
KLN Logistics (Thailand) ถือหุ้น 907.20 ล้านหุ้น คิดเป็น 63.0% โดยภายหลังการขายหุ้น IPO เหลือสัดส่วนถือหุ้น 52.1% และหลังการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิจะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 51.0%
VGI ถือหุ้น 331.20 ล้านหุ้น คิดเป็น 23% โดยหลังการขายหุ้น IPO จะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 19.0% และหลังการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิจะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 18.6%
โดยการเข้า IPO ในครั้งนี้ จะมีการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นประมาณ 17.2% ของจำนวนหุ้นภายหลังการ IPO
4. การแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าตลาดที่เติบโตขึ้นย่อมดึงดูดให้มีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น
ปัจจุบัน KEX ยังเป็นบริษัทจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนที่ให้บริการเก็บเงินปลางทางรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีจุดบริการมากกว่าถึง 4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับคู่แข่ง และมีจำนวนรถที่ใช้ในการจัดส่งพัสดุมากกว่า 2 เท่าตัว
ดังนั้นจึงทำให้สามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากกว่า มี Economies of Scale ที่สูงกว่า นั้นแปลว่าอัตราส่วน Fixed Cost จะต่ำกว่าคู่แข่ง และมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า
ส่วนปี 2563 - 2564 การแข่งขันก็ยิ่งดุเดือดขึ้นอีก ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ผู้เล่นเจ้าอื่นๆก็ขยายธุรกิจกันกว่าเท่าตัวเช่นกัน
5. ผลการดำเนินงานย้อนหลังเติบโตหรือไม่?
เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมคร่าว ๆ แล้ว เราก็คงจะพอตอบได้ว่า KEX น่าจะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตตาม e-commerce และ social commerce ดังนั้น เราลองดูตัวเลขกันครับว่าจะเป็นไปตามที่เราคิดจริงหรือไม่
- ปี - 2560 / 2561 / 2562 / 2563 (9 เดือน)
- รายได้ (ล้านบาท) - 6,626 / 13,565 / 19,782 / 14,689
- กำไรสุทธิ (ล้านบาท) - 730 / 1,185 / 1,329 / 1,030
- อัตรากำไร - 11% / 8.7% / 6.7% / 7.2%
รายได้ย้อนหลังของ KEX เติบโตมาโดยตลอด และล่าสุดปี 2563 แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 KEX ก็ยังสามารถเติบโตในแง่ของรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากลูกค้าประเภท C2C 53.9% B2C 44.3% และ B2B 1.7% (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 2563)
สาเหตุที่เติบโตดีในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในเรื่องของจำนวนรถและคลังสินค้า และอุปสงค์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
6. อนาคตเติบโตต่ออีกมั้ย?
Frost & Sullivan ได้คาดการณ์ว่า การค้าปลีก online ในปี 2562 – 2567 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสม CAGR ที่ 17.3% ต่อปี จากการขยายตัวของ Social Media
โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าแบบ C2C ที่เป็นสัดส่วนกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของ KEX จะสามารถเติบโตได้ 18.6% ต่อปี ในปี 2562 - 2567
ถ้าพูดถึงในแง่กำลังการผลิต KEX มีความสามารถในการคัดแยกพัสดุสูงถึง 1.9 ล้านชิ้นต่อวัน โดยใช้กำลังการผลิต 63% แปลว่า KEX ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกในระดับหนึ่ง
คำถามต่อมาคือ แล้วตลาดจะตันเมื่อไหร่?
ผมเองก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน เพราะส่วนตัวผมก็ได้เห็นข้อมูลยอดขายแบบ Singles Day Sales โดยเฉพาะวันที่ 11.11 ของ Alibaba ก็พบว่าปีล่าสุดก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสถิติปีล่าสุด 2563 ก็เติบโตขึ้นจากปีก่อนเกือบ 2 เท่า!
เห็นแบบนี้แล้วผมก็อยากจะยินดีกับผู้ประกอบอาชีพทุกท่านที่ได้รับผลดีจากการเติบโตของอุตสาหกรรมครับ ผมคาดหวังว่า E-Commerce และโซเชียลคอมเมิร์ซ จะยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า
แล้ว KEX จะสามารถเติบโตต่อได้หรือไม่?
ด้วยสภาพการแข่งขันของผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของ KEX ไม่น้อย
แต่ KEX ยังมีความได้เปรียบเรื่องการแข่งขันกับคู่แข่งที่จัดส่งพัสดุได้อย่างฉับไว ตัวแบรนด์มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักอันดับต้นๆในตลาด ทำให้มีโอกาสที่ลูกค้าจะเข้าถึงเลือกใช้บริการด้วยความไว้วางใจ
รวมไปถึงข้อได้เปรียบจากการใช้ network มีศูนย์กระจายพัสดุจำนวนมาก และจุดให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ดังนั้น KEX จึงยังมีความสามารถมากพอในการครอง market share อันดับหนึ่งในตลาด (นับเฉพาะผู้จัดส่งพัสดุภาคเอกชน ไม่รวมไปรษณีย์ไทย)
7. ซื้อเอาปันผลดีมั้ย?
สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบเงินปันผล KEX ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่คาดว่ามีความสามารถในการจ่ายปันผลได้ต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไร และยังมีโอกาสเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต
นโยบายการจ่ายปันผลของ KEX กำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรต่อปี หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่างๆ
แต่ก็ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นที่ลงทุนด้วยครับ เพราะถ้าลงทุนตอนราคาแพงเราก็จะได้อัตราปันผลน้อยลง
8. ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง?
อุตสาหกรรมมีการแข่งขันสูง การแข่งขันด้านราคาอาจเกิดขึ้นได้ แต่เนื่องจาก KEX มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้ยังมีคงความได้เปรียบคู่แข่ง
และท้ายที่สุด อย่าลืมว่าการลงทุนในราคาแพงเกินไปเป็นความเสี่ยงที่สูงที่สุดครับ โดยราคา IPO จะอยู่ที่ประมาณ 28 บาท คิดเป็น PE 36 เท่า ของกำไรปี 2562 นักลงทุนต้องลองตัดสินใจครับว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่
หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาเชียร์ให้ซื้อหรือขายหุ้น ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงต่อการตัดสินใจลงทุน
ข้อมูลอ้างอิง:
- https://www.marketingoops.com/pr-news/kerry-express-thailand/
- หนังสือชี้ชวนฉบับเต็มของ KEX ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=305545